
ส่วนประกอบที่สำคัญของกาแฟ
กาแฟ ถือเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่ป่าธรรมชาติแบบร้อนชื้น โดยปัจจุบันมีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยมี 2 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากคือ สายพันธุ์อราบีก้า และสายพันธุ์โรบัสต้า สำหรับส่วนประกอบหลักของกาแฟก็คือ คาเฟอีน ซึ่งพบทั้งในต้น ผล และเมล็ดกาแฟ โดยในกาแฟโรบัสต้าจะมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่ากาแฟอราบีก้า
นอกจากนี้ วิธีการสกัดกาแฟและรูปแบบการดื่มก็มีผลต่อปริมาณคาเฟอีนด้วยเช่นเดียวกัน และการชงกาแฟแบบที่ชงแล้วยังเหลือกากกาแฟ ที่เราเรียกว่า กาแฟสด จะพบปริมาณเคเฟอีนต่อกาแฟ 1 แก้วอยู่ที่ประมาณ 50 – 150 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าการดื่มกาแฟแบบสำเร็จรูป หรือกาแฟพร้อมชงที่จะละลายไปกับน้ำไม่เหลือกากกาแฟ โดยจะพบปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 40 – 110 มิลลิกรัม
ส่วนประกอบสำคัญของกาแฟ พร้อมฤทธิ์ที่มีต่อสุขภาพ
คาเฟอีน (caffein) หรือ เทอีน (theine) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่อยู่ในประเภทของอัลคาลอยด์ (alkaloids) จำพวกแซนทีน (xanthine) โดยเป็นสารที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของกาแฟ มีรสขม ไม่มีกลิ่น ซึ่งนอกจากกาแฟแล้ว ยังสามารถพบคาเฟอีกได้ในพืชอีกหลายชนิด เช่น เมล็ดโกโก้ เมล็ดจำพวกโคล่า ในใบชา และในเมล็ดกัวรานา โดยคาเฟอีนจะมีฤทธ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่ในขณะเดียวกัน คาเฟอีนก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกันหากร่างกายได้รับในปริมาณที่สูงเกินไป เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว หรือปวดท้องรุนแรง
นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยในต่างประเทศที่บอกว่า คาเฟอีน เป็นผลให้ร่างกายขับเอาแคลเซียมออกมามากขึ้นพร้อมการปัสสาวะ เป็นผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน จึงมีคำเตือนเรื่องการดื่มกาแฟรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน โดยใน 1 วันร่างกายของเราไม่ควรได้รับคาเฟอีนสูงเกิน 250 มิลลิกรัม
No Comments